โครงการศึกษาธรรมชาติโดยศิลปวิธี เทอม 2 ปี 2552 ค่ายเข้มข้น ครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 27 - วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ณ ป่าเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เด็กแกนนำมารวมตัวกันอีกครั้งหลังจากค่ายแรกผ่านไปได้ 2 สัปดาห์ มาครั้งนี้ เป็นการรู้จักธรรมชาติขั้น Advance เพราะพวกเขาจะเข้าไปนอนในป่า ไปดูธรรมชาติในป่ากันจริงๆ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เต็มๆ ทีมงานจะจัดเตรียมอุปกรณ์แค่จำเป็นให้น้องๆ เช่น ถุงนอน เปลนอน ข้าวสารอาหารแห้ง...แค่นั้น นอกนั้นตะลุยกันไปรู้จักธรรมชาติจริงๆ ตรงหน้าดีกว่า...เค้าว่ามาอย่างนั้น แม้ว่าอากาศในช่วงนั้นจะเริ่มหนาวเย็น และจะมีทีม ลุงวิเชียร พี่เด่น และครูผู้ชายอีกคน ขึ้นไปด้วย ช่วยดูความปลอดภัย มีทีมมายเดกับนา ช่วยดูแลเรื่องจัดเตรียมพื้นที่ ก่อกองไฟ มาลัยกับเพื่อนสาวช่วยดูสวัสดิการอาหาร (เอ๊ะ ก็ดูเตรียมไปชุดใหญ่นะเนี่ย ไหงตอนแรกกะว่าให้ไปตะลุยๆ)
เมื่อทุกอย่างพร้อมเพรียง รถน้าเกียรติและลุงจี ก็พร้อมรอพาเด็กเข้าไปส่งที่จุดเดินป่าหุบห้างกัน เริ่มต้นกันที่โรงเรียนสินแร่สยาม แกนนำมาไม่ถึง 20 คน บางคนป่วยไปไม่ไหว บ้างติดภารกิจจำเป็น ก็ว่ากันไปตามสะดวก กระเป๋าที่เด็กๆ เตรียมกันมาใบไม่เล็กไม่ใหญ่แบบว่าพอตัวเองดูแลตัวเองไหว พี่ๆ เริ่มด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงกติกาการเรียนรู้ธรรมชาติในป่า นั่นคือ 'เปิด' เครื่องมือการเรียนรู้ของเราซะตั้งแต่ตอนนี้ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) พอไปถึงจะได้ทำงานได้เลย เพราะวอร์มเครื่องไว้แล้ว อย่าเอาความคิดมาบดบังเครื่องมือสำคัญ อย่างเช่น 'ความกลัว' ประเภทต่างๆ ตั้งแต่ กลัวผี ไปจนถึง กลัวเห็บ กลัวทาก แต่ถ้าเจองู เจอตะขาบ ก็หลีกๆ นะจ้ะ ก็ว่ากันไปตามจริง ลุงอ๋อยเคยบอกเด็กๆ ไว้ว่า 'ความคิดมักจะหลอกเราเสมอ' เพราะฉะนั้น ไปค้นหาความจริงตรงหน้ากันดีกว่า เมื่อพร้อมกับกติกามารยาท ก็กระโดดขึ้นหลังรถกระบะได้เลย
รถแล่นออกไปจนถึงกองหินใหญ่ข้างโรงเรียน เซิร์ฟๆ ด้วยการดูลักษณะของหินในพื้นที่กันก่อนว่าภูมิประเทศบ้านเราชุมชนเราเป็นพื้นหินแบบไหน หินทางแถบนี้เป็นหินอัคนีเป็นส่วนใหญ่ หินควอสซ์ หินเฟลด์สปาร์ เด็กๆ เก็บหินไปเป็นตัวอย่าง ที่นี่เคยเป็นเหมืองดีบุกมาก่อนด้วย ก็พอจะมีให้เห็นอยู่บ้าง แร่เหล็กอีกเล็กน้อย เด็กๆ สนุกกับการเอาแม่เหล็กมาดูดแร่เหล็กกันยกใหญ่ ก่อนจะไปต่อกันที่ทางเข้าป่า
พอรู้ว่าพี่ๆ จะพักตรงนี้แน่ๆ เด็กๆ ก็เริ่มชักชวนกันเอาเปลสนามออกไปผูกกับต้นไม้ใหญ่ ทั้งคณะ 30 คน ต้นไม้ 2 ต้น บางที่ต้องผูก 2 เปล ชั้นบนกับชั้นล่าง ยังดีที่เด็กตัวไม่ใหญ่ เพราะถ้าตกจากชั้นสองลงมา คนข้างล่างน่าจะแค่บอบช้ำไม่ถึงกับหัก (อันนี้พูดเล่น) ผูกเปลกันได้ก็ไปอาบน้ำในลำห้วย แล้วกลับมาทำกับข้าวกันเป็นลำดับต่อไป เห็นว่ากุนเชียงไม่ค่อยอร่อย (ลุงวิเชียรถึงกับบ่น ปกติเป็นคนลิ้นจระเข้ขนาดนั้น) แต่หมดไม่มีเหลือ หลังข้าวเย็น พี่ๆ ชักชวนให้เด็กๆ นั่งนิ่ง 'เปิด' หู ฟังเสียงตอนหัวค่ำว่าได้ยินอะไรกันบ้าง ให้เขียนลงใน 'แผนที่เสียง' เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เสียงใกล้ไกล ทิศไหนมุมไหน เขียนมาตามที่ได้ยินจริง 'ซือๆ' ก็เขียน 'ซือๆ' ไม่ต้องคิดต่อว่าเป็นตัวอะไร วันนี้สรุปประจำวันว่า เราน่าจะทำประโยชน์อะไรให้กับธรรมชาติได้บ้าง...แล้วก็เข้านอนกัน
วันรุ่งขึ้น อากาศมีหมอกบางๆ ตอนเช้า พูดแล้วได้ไอออกจากปาก พี่ๆ พาเดินดูธรรมชาติรอบๆ ต้นไม้ใหญ่ขนาดเด็ก 4-5 คน ล้มขวางลำห้วยใหญ่ ต้นนี้น่าจะสูงมากกว่า 50 เมตร ดูจากลำต้นแล้วเป็นการล้มตามธรรมชาติ อาจจะมีฝนตกหนักพารากเอนล้มก็เป็นได้ เด็กๆ ปีนขึ้นไปนั่งกันบนลำต้นมองลงไปเบื้องล่างเป็นลำห้วยที่ใช้อาบใช้กินกันเมื่อวานนี้ พี่เอนิคุยเล่าเรื่องต้นไม้เพื่อนรัก แล้วเด็กๆ ก็ได้ลองสัมผัสจริงกับการโอบกอดต้นไม้ หลายคนบอกได้ยินเสียงน้ำสูบขึ้นสูบลงในลำต้นด้วย แล้วสายๆ ก็พาให้เด็กระลึกและขอบคุณธรรมชาติกันก่อนจะกลับออกมา ไปพักกันตรงจุดทางเข้าป่าเมื่อวานนี้กันคืนนี้
ระหว่างทางที่เดินออกจากป่า พี่ๆ ชวนทำกิจกรรมช่วยเหลือต้นไม้ เพราะเมื่อวานตอนเดินเข้าเด็กๆ ได้เห็นร่องรอยต้นไม้ถูกเจาะ ถูกฟันด้วยมีดบ้าง พี่ๆ เลยควักปูนแดง (ที่ใช้กินกับหมาก) ออกมาให้น้องใช้ทาปิดแผล พี่ๆ เค้าเรียกกิจกรรมนี้ว่า 'พยาบาลต้นไม้' แล้วยังมี แวะทำ 'ฝายบีเว่อร์' กับ 'ชำแหละซากไม้แห้ง' ช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเร็วขึ้น และไม่เป็นเชื้อเพลิงในหน้าแล้ง นั่นคือสิ่งที่เด็กคิดได้ว่าเป็นประโยชน์ กว่าจะถึงจุดพักที่สองก็เกือบเย็นพอดี ผลงานการเรียนรู้จากป่าของแต่ละคนถูกเอามาจัดวางให้ดูสวยงาม อาหารเย็นและดนตรีธรรมชาติช่วยขับกล่อมให้เด็กๆ สบายและสุขใจจนหลับสนิทกันแต่หัวค่ำเลยคืนนี้
รุ่งเช้า ฐานสุดท้ายของกิจกรรมคือ 'ปั๊มมือปั๊มเท้า' เป็นร่องรอยที่เหลือไว้ มีแค่รอยเท้ากับรอยมือที่ได้กลับมาเป็นหลักฐานความรู้ที่ไม่ต้องเอ่ยเทียบกับเอกสารการเรียนรู้แผ่นไหนๆ เด็กแกนนำทั้งหมดคงยากจะอธิบายเป็นรูปธรรมให้ใครฟัง นอกจากจะต้องให้เขาคนนั้นมาสัมผัสเองมันเป็นเรื่องที่ต้อง 'รู้ได้ด้วยตนเอง' จริงๆ นั่นแหละ
ภาพ
ชื่อผู้ติดต่อ/อีเมล์