โครงการศึกษาธรรมชาติโดยศิลปวิธี ค่ายแกนนำทำประโยชน์ วันเสาร์ที่ 26 - วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2552 ณ เนินพัน และ ป่าหุบห้าง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
กิจกรรมโครงการฯ นี้นับจากเริ่มเทอม 2 มา มีมากมายไม่หยุดหย่อน เด็กๆ สนุก พี่ๆ ก็มันพะยะค่ะ จนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เด็กๆ แกนนำได้ผ่านค่ายรู้จักธรรมชาติฉบับเข้มข้น ครั้งที่ 2 ไปแล้วพี่ๆ ก็เริ่มกิจกรรมขั้นต่อไป คือ จะทำยังไงที่จะให้เด็กได้คิดและทำเพื่อดูแลธรรมชาติอย่างจริงๆ จังๆ ตามที่วางแผนไว้
เอาความดังกล่าวปรึกษาลุงอ๋อย ลุงอ๋อยเลยพาไปดูพื้นที่ที่เล็งๆ ไว้อยู่แล้ว (เข้าทางลุงอ๋อยเลย) ป่าละแวกบ้าน จุดที่ลุงอ๋อยพาพี่ๆ ทีมงานไปดู ก็คือป่าไผ่แถวป่าหุบห้าง (ทางเข้าป่าหุบห้างที่เด็กไปเข้าค่ายเข้มข้นครั้งที่ 2 นั่นแหละค่ะ) ลุงอ๋อยชี้ชวนให้ทีมพี่ๆ และเด็กแกนนำฯ ที่ไปด้วยได้ลองสำรวจพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าบริเวณป่าตรงนั้นเป็นป่าไผ่ที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นแซมแทรกอยู่มากมาย มีไผ่รุ่นเก่าๆ ที่แห้งล้มระเนระนาด มีลำห้วยเล็กๆ ที่เป็นต้นน้ำของหมู่บ้าน มีร่องรอยไฟป่าตามโคนไม้ใหญ่ มีไม้ยืนต้นต้นเล็กๆ ที่กำลังเติบโตหลายต้น และมีต้นไม้ที่ถูก 'กราน' ไว้อยู่ 2 ต้น (หมายถึงการตัดเลาะเปลือกต้นไม้บริเวณที่เป็นท่อลำเลียงน้ำรอบลำต้นออก เพื่อให้ต้นไม้ไม่สามารถส่งน้ำเลี้ยงขึ้นไปยังบนเรือนยอดได้ และต้องตายในที่สุด) ซึ่งหากพื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการดูแลรักษาและฟื้นฟู กำหนดขีดเขตกันไว้ อาจจะทำแนวกันไฟ เก็บเศษซากไม้แห้ง...พี่ๆ คิดว่ายังไงบ้าง
อันนี้ก็เข้าทางพี่ๆ อีกเหมือนกัน เพราะถ้ามีการกำหนดพื้นที่ได้เป็นรูปธรรม เด็กๆ ก็เหมือนมีทิศทางชี้บอกให้เพิ่มอีกหน่อย เหลือแค่คิดว่าจะทำอะไรอย่างไร เมื่อไหร่ เพื่อให้พื้นที่นี้ได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูอย่างจริงจัง เห็นเป้าหมายตรงหน้าชัดเจน ทีนี้ก็เหลือแต่การชวนน้องคิด...
พี่ๆ จัดแจงนัดแนะน้องๆ ในวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พบปะกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า รถลุงจีเตรียมพร้อม พาเด็กขึ้นไป ณ จุดป่าไผ่ทางเข้าหุบห้าง ไปครั้งนี้คุณครูวิภา ทวีวงศ์ คุณครูคนสำคัญของโครงการมาร่วมวงด้วย เด็กๆ ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้นไปอีก เพราะครูเอาด้วยกับเด็กๆ มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเป้าหมายเห็นตรงกันมานานแล้ว... แต่การอยู่ดีๆ ให้คิดเลย มันก็ดูจะจืดชืดไร้ความสนุก อาจจะต้องให้น้องๆ เห็นรูปแบบของการคิด 'แบบแก้ปัญหา' และ แบบป้องกันปัญหา' ก่อน 'น้ำดีน้ำเสีย' คือกิจกรรมที่ว่า แบ่งน้องออกเป็น 2 กลุ่ม ตรงหน้าของแต่ละกลุ่มคือกระบะใส่น้ำใสสะอาด เอ้า! กลุ่มไหนทำน้ำให้เขลอะสกปรกที่สุด ในเวลาอันสั้น 30 วินาที...ชนะ ว่าแล้วทั้งสองกลุ่มก็ตะลุยหาเศษขี้โคลนขี้ดิน ใบไม้แห้ง ขยะรอบๆ ใส่ได้ใส่ดี ใส่จนหมดเวลา ผลปรากฎว่าเสมอกัน เพราะเขลอะเละน้ำสีโคลนขุ่นพอกันทั้งสองกลุ่ม ทีนี้...พี่ให้เวลา 5 นาทีเลย ทำน้ำตรงหน้าให้กลับมาใสเหมือนตอนที่พี่ตักมาไว้ให้...ใครทำได้...ชนะ เอาแล้วสิ...เด็กๆ เริ่มมองหน้ากันเลิ่กลั่ก หันซ้ายหันขวาจะหาอะไรทำยังไงดีหว่า ว่าแล้วกลุ่มแรกก็คิดหาวิธีกรองน้ำ ด้วยลำไม้ไผ่ ใส่หินก้อนโตไว้บนๆ หินก้อนละเอียดไว้ปลายๆ หาถ่านดำมาช่วยกรองอีกชั้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเอาขวดน้ำมาปาดครึ่ง เอาหินกับทรายละเอียดจากลำห้วยมาใส่ไว้ พยายามกรองแล้วกรองอีกหลายรอบ หมดเวลา...ผลปรากฎว่า น้ำทั้งสองกลุ่มใสขึ้นมาจากน้ำเขลอะเละได้แค่เล็กน้อย... พี่ๆ แทบไม่ต้องสรุปอะไรให้น้องฟัง เพราะสิ่งที่น้องได้ประจักษ์มันอยู่ตรงหน้าทั้งหมดแล้ว การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มันเป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วอะไรคือสิ่งที่น้องๆ อยากเห็นในอนาคต ภาพป่าภูเขาหัวโล้นถูกกางออกให้น้องดู ไม่รอช้า เด็กๆ หยิบกระดาษมาวาดสิ่งที่อยากเห็น ไม่ใช่อย่างภาพตรงหน้าแน่นอน ต้นไม้เล็กๆ ถูกวาดขึ้น แมลง สัตว์ป่า นก ผีเสื้อ ถูกแปะไว้ปิดภาพภูเขาหัวโล้น... แล้วก็เข้าสู่กระบวนการ 'คิด' อย่างจริงจัง โจทย์คือ 'พรุ่งนี้เราจะไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับธรรมชาติได้บ้างในหนึ่งวัน' เด็กๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ระดมความคิดกัน เมื่อได้ความคิดออกมาแล้ว ก็ออกมาบอกเล่าให้เพื่อนๆ ฟังกันผ่านละคร ได้ความกันว่า กลุ่มที่ 1 เสนอว่า พรุ่งนี้เป็นวันอาทิตย์ นักท่องเที่ยวมากมายจะมาดูพระอาทิตย์ขึ้นกันบนจุดเนินพันของเขากระโจมในตอนเช้า เราจะขึ้นไปเก็บขยะและชักชวนให้นักท่องเที่ยวไม่ทิ้งขยะไว้บนเนินพันกัน กลุ่มที่ 2 เสนอว่า พรุ่งนี้เราจะมาเก็บซากไม้ไผ่แห้ง และเขี่ยเศษใบไม้แห้งรอบโคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อไม่ให้เป็นเชื้อไฟกัน กลุ่มที่ 3 เสนอว่า พรุ่งนี้เราจะมาช่วยทำฝายชะลอน้ำ ให้น้ำอยู่ในป่านานๆ และจะได้มีน้ำใช้ในหมู่บ้านได้นานๆ กัน
วันรุ่งขึ้น เด็กกลุ่มแรกตื่นนอนกันตั้งแต่ ตี 5 เพื่อขึ้นไปจุดเนินพัน พร้อมชุดเก็บขยะ ป้ายโปสเตอร์ที่เตรียมไว้ตั้งแต่กลางคืนถูกม้วนไว้ในมือ รถกระบะลุงจีทำหน้าที่ เหมือนเคย พาเด็กๆ ขึ้นไปยังจุดหมาย เมื่อถึงที่หมาย สิ่งที่เด็กๆ เห็น คือ นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล รถกระบะ 4x4 มากมายจอดเรียงราย จนลุงจีหาที่จะจอดบ้างยังยาก แล้วทั้งหมดก็ลงมายืนตรงพื้นที่ว่าง เริ่มต้นด้วยการร้องเพลงธรรมชาติของวงกลิ่นดินให้เหล่านักท่องเที่ยวฟัง เพื่อเป็นการเรียกขวัญให้ตัวเอง และเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยว แล้วก็พูดชักชวนให้นักท่องเที่ยวช่วยกันเก็บขยะลงไปทิ้งข้างล่าง เด็กๆ แกนนำเริ่มทะยอยเดินเก็บเศษขยะที่พื้นลงถุงดำที่เตรียมมา นักท่องเที่ยวหญิงชายหลายคนเห็น ยิ้มแย้มและทำตามบ้าง พาให้เด็กๆ ใจชื้นขึ้นเล็กน้อย เรื่อยมาจนรอบบริเวณและทางลงจากเนินพันลงมาอีกเกือบกิโล พร้อมๆ กับคำพูดที่ชักชวนให้นักท่องเที่ยวเก็บขยะของตนเองลงไปทิ้งข้างล่างตลอดทางที่ได้พบนักท่องเที่ยวผ่านไปมา แล้วจึงขึ้นรถกระบะลุงจีกลับมายังมูลนิธิฯ เด็กแกนนำฯ หลายคนบ่นตื่นเต้น กล้าๆ กลัวๆ ก่อนจะแยกย้ายไปนอนต่อ พอได้เวลา 9 โมง แกนนำฯ กลุ่มที่สองและกลุ่มที่สาม ก็เริ่มเวลาปฏิบัติการของตัวเอง ทั้งสองกลุ่มเตรียมอุปกรณ์การกวาด เก็บ ถาก ตัด ขึ้นรถกระบะ แล้วก็ไปยังจุดหมายที่เล็งกันไว้ แยกย้ายกันทำหน้าที่ของตน กลุ่มที่สองมุ่งหน้าไปยังป่าไผ่ เดินเก็บเศษใบไม้กิ่งไม้แห้งออกจากโคนต้นไม้ใหญ่ หัก ดึง ไม้ไผ่แห้งมากองแล้ว ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ วางกองไว้อีกด้านหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่สามก็มุ่งหน้าไปยังลำห้วยเล็กๆ เอาเศษไม้ไผ่ที่เพื่อนตัดไว้ มากองกั้นลำน้ำเป็นชั้นๆ พักกินน้ำและอาหารที่เตรียมมา เป็นครั้งคราว จนเวลาล่วงเลยเป็นบ่ายแก่ ภารกิจต่างๆ ที่เด็กแกนนำฯ ได้ช่วยกันทำไว้ในวันนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องยุติ ความเหนื่อยล้าปรากฎที่ใบหน้าแค่เล็กน้อยบวกกับร่องรอยดินดำบนเสื้อผ้าและเนื้อตัวเป็นของฝาก หลายคนบ่นเหม็นเหงื่อเพื่อน แต่ตลอดระยะทางที่ลงจากเขาเด็กๆ ยังคุยเล่นหยอกล้อ และนัดแนะในคราวต่อไป
ภาพ
ชื่อผู้ติดต่อ/อีเมล์