เสวนา "โลกาภิวัฒน์ ทุนนิยม คนและโลก" กับ อ.ปกป้อง จันวิทย์ วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2553 ณ สำนักงานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ กรุงเทพฯ โครงการ Hatch-U
ถ้าเอ่ยถึงเรื่องของ 'เศรษฐศาสตร์' ใครได้ยินได้ฟัง เป็นต้องส่ายหัว จะมีไม่กี่คนที่จะยิ้มตาตื่นอยากรู้อยากเห็นกับคำๆ นี้ แต่เรื่องราวและวิธีการพูดถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ของ อ.ปกป้อง ต้องบอกว่า ตื่นตา ไม่มีเด็กๆ นั่งหลับกันเลยทีเดียว ช่วงเช้า อ.ปกป้อง เอาหนังสารคดีมาฉายก่อน เรื่อง Our Daily Bread หนัง 45 นาที ที่ไม่มีคำพูดบรรยาย ชักจูงใจให้โน้มเอียงไปทางไหน มีแต่ภาพและเสียงจริงๆ ของเครื่องจักร ของคนจริงๆ หลายภาพสะเทือนอารมณ์ความรู้สึก หลายภาพดูแล้วทึ่งในเครื่องจักรที่มนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมา (ใครไม่เคยดู แนะนำค่ะว่าลองหามาดู) หนังที่ไม่มีคำบรรยาย อธิบาย แต่ในหัวของแต่ละคน ปรากฎเสียงบรรยายให้ตัวเองสะท้อนกันไปมาอยู่ตลอดเวลา คละเคล้ากับเสียงเล็ดลอด อื้อหือ ว๊าย แหวะ เป็นระยะๆ เมื่อดูหนังเสร็จ อ.ปกป้องขอให้ทุกคนเขียนบทความจากหนังที่ได้ดูคนละ 1 หน้า A4 ทุกคนก็แยกย้ายกันไปดึงความคิดความรู้สึกของตัวเองลงหน้ากระดาษตามมุมต่างๆ ที่สะดวกสบายกัน
พอทานข้าวเที่ยงเป็นที่อิ่มหนำ ทุกคนนำบทความขนาด 1A4 ให้ อ.ปกป้องได้อ่านก่อนเข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในช่วงบ่าย พอเข้าห้อง อ.ปกป้องก็เริ่มถามไถ่ถึงสิ่งที่แต่ละคนรู้สึกจากการได้ดูหนังเรื่องนี้ บางความคิดโยงใย โยงยาวต่อไปเรื่องทุนนิยมที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ อ.ปกป้องพูดว่า "หลักหนึ่งของผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดได้ในทุกวันนี้ อ้างอิงตามที่ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ เคยว่าไว้ 3 อย่างที่ต้องคำนึงถ้าคิดอยากเป็นผู้ประกอบการในยุคสมัยนี้ คือ ถ้าคุณไม่ 'The Best' คุณก็ต้อง 'The First' หรือ 'The Different' ก็คือ ถ้าคุณไม่ทำได้ดีที่สุดในสินค้าของคุณ คุณก็ต้องเป็นคนแรก หรือไม่ก็ต้องทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น" ฟังดูแล้ว ก็เห็น รอยปูด เครียด ขึ้นมาแถวขมับของน้องๆ หลายคนที่คิดอยากประกอบธุรกิจของตัวเองบ้าง เพราะทุกวันนี้คู่แข่งก็มากมายจริงๆ เสียด้วย และความที่ว่านี้ก็สะท้อนความคิดอื่นให้ปรากฎ ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้นหรอก กับผู้บริโภคเอง ก็ต้องการ ความเป็น 'The Best', 'The First' และ 'The Different' เช่นเดียวกันในทัศนะของลุงอ๋อยที่สะท้อนออกมา ...ลองทบทวนตัวเองกันดูก็ได้...
อ.ปกป้องพูดจากภาวะเศรษฐกิจทางการเงินทั้งในประเทศเรื่อยลามไปถึงต่างประเทศ เมื่อคราวที่ อเมริกามหาอำนาจด้านการเงินของโลก เจอวิกฤติ Subprime เศรษฐกิจตกทรุดฮวบก็ด้วยเหตุแห่งการเล่นแร่แปรหนี้ ไปเป็นสินทรัพย์ (ทุกคนในห้องร้อง อื้อหือ ช่างคิดกันได้หนอ ขนาดหนี้ยังกลายเป็นมูลค่าได้) ซะจนคุมสถานการณ์กันไม่อยู่ แต่ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย ก็เพราะว่า "เราไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจมัน ก็เลยรอด" (อันนี้ต้องถือว่าเป็นข้อดีของความไม่รู้จริงๆ) และอีกหลายๆ เหตุการณ์ของภาวะเศรษฐกิจโลกและของไทยที่สัมพันธ์ไปกับเรื่องอื่นๆ อย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาสังคม คนรวย กับคนจน ความแตกต่างของชนชั้น ธรรมชาติที่ถูกรุกล้ำทำลาย สภาวะจิตตกต่ำ แย่งชิงทรัพยากร ความรวดเร็วของเทคโนโลยี ความต้องการเป็นที่ยอมรับ เกินพอดี และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูเศรษฐกิจและแกะรอยต่อไป หรือดูจากผลและหันกลับไปดูเหตุ หรือกระทั่งการวัด อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่วัดด้วย GDP แต่อย่างประเทศภูฏานไม่ตาม ก็วัดเป็นค่าความสุขมวลรวม (GNH) มากกว่า เพียงแค่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ก็จะเจอทางเดินที่เหมาะกับตัวเองได้ และเติบโตไปตามศักยภาพที่ตัวเองเป็น ไม่ต้องเดินตาม วิ่งไล่ยักษ์ใหญ่ เพราะรู้ตัวว่าเราไม่ใช่ยักษ์แล้วก็ไม่ได้อยากเป็นยักษ์ด้วย นี่แหละข้อดีของการรู้ตัวเอง แต่พออยากเป็นยักษ์ แต่ไม่ใช่ ก็เลยบีบคั้น กดดัน เครียด แล้วก็ไม่เจอความสุขกันซะที ...ลองทบทวนตัวเองกันดูก็ได้..
ภาพ
ชื่อผู้ติดต่อ/อีเมล์