เหตุการณ์/กิจกรรมที่เกิดขึ้น 14 ต.ค.: ออกเดินทางจากกทม.ด้วยรสบัสของบริษัทนครชัยแอร์ เวลา 21.00 น. 15 ต.ค.: ถึง จ.อุบลราชธานี โดยประมาณเวลา 6.00 น. กิจกรรมปรับทัศนคติ (contour) ที่อุทยานผาแต้มในช่วงบ่าย ให้สัมผัสหน้าและวาดรูปหน้าเพื่อนที่นั่งตรงข้าม จากนั้นเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นระยะ 7 กิโลเมตร ระหว่างถ่ายรูปทุ่งดอกไม้เล็กๆ สัมผัสน้ำตกเล็ก เส้นทางนี้เดินไปถึงผาแต้ม จุดที่มีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ 3,000 ปี (มีทั้งหมดด้วยกัน 4 จุด) ตอนกลางคืนนั่งพูดคุยกันที่ผาหมอน มีถนนรองนั่ง มีดาวล้านดวงเป็นหลังคา (เห็นดาวตกด้วย) 16 ต.ค.: ยังคงอยู่ในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตอนเช้าลุงอ๋อยพูดถึงการมาทริปครั้งนี้ “การใช้เวลาของเราที่ เรามีเวลาของเราแต่อย่าเอาเวลาของคนอื่นมาเป็นของเรา” จากนั้นไปดูลานหินแตก ถ่ายรูปที่เสาเฉลียง ดูน้ำตกลงรูที่น้ำตกแสงจันทร์ เล่นน้ำเย็นที่น้ำตกสร้อยสวรรค์ ที่สุดท้ายของวันไปหมู่บ้านท่าล้ง เป็นหมู่บ้านของชาวบรูที่อพยพมาจากฝั่งลาวเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ผู้ใหญ่บ้านพาดูวิถีชีวิตรอบๆหมู่บ้าน พาไปคุยกับคุณยายที่อายุยืนถึง 100 ปีและทำอาหารพื้นบ้านให้พวกเรากิน ตอนกลางคืนกลับไปนั่งคุยกันที่ผาหมอน 17 ต.ค.: เดินทางจากอุทยานแห่งชาติผาแต้มไปยังช่องเม็ก ชายแดนประเทศไทย – ลาวเพื่อเดินทางเข้าประเทศลาว (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) เรามีไกด์สาวสวยชื่อ ปุ๋ยที่จะพาเราเที่ยวตลอดการเดินทาง จากนั้นทานข้าวกลางวันที่ตลาดดาวเรืองซึ่งเป็นตลาดประจำเมืองปากเซ (รับประทานตามอัธยาศัย) แล้วนั่งรถไปดูน้ำตกตาดเฮือน น้ำตกขนาดใหญ่ มีละอองน้ำปลิวมาที่จุดชมวิวซึ่งอยู่ตรงข้ามกับน้ำตก สถานที่ต่อไปคือ ภูเทวดา (อยู่ในเมืองปากซอง) เราขึ้นไปอยู่บนยอดภูและเข้าไปในโรงแรมภูเทวดาที่มองเห็นบ้านเรือนที่รายล้อมภู ก่อนจะเดินทางไปที่อื่นเราไปสักการะอนุสรณ์ของท้าวไกรสร พรหมวิหารและอนุสรณ์ของทหารเวียดนาม พระอาทิตย์ตกดินแล้วแต่เราก็ยังเดินทางไปยังไร่ชาซึ่งเมืองปากซองเป็นเมืองที่ปลูกชามาก เราดินดูต้นชา ชิมชาร้อนๆ แล้วก็กลับเข้าเมืองปากเซ ตอนเย็นทางอาหารริมโขงในร้านอาหารเล็กๆ มีเมี่ยงปลาเป็นเมนูเด็ด กิจกรรมสุดท้ายของวันคือ พูดคุยกันตามกลุ่มในโรงแรมทัดดาว 18 ต.ค.: ทานอาหารเช้าที่ตลาดดาวเรือง (เลือกร้านตามใจชอบ)เตรียมตัวเดินทางไกลไปยังปราสาทวัดพู สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของลาวใต้ ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว (แห่งแรกคือ เมืองหลวงพระบาง) เรานั่งเรือข้ามฟาก เอารถขึ้นเรือ ถึงปราสาทวัดพูแล้วแต่แวะเข้าพิพิธภัณฑ์ปราสาทวัดพู ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปราสาท ประวัติความเป็นมาและสิ่งของที่พบในปราสาทและบริเวณรอบๆ จากนั้นไปดูปราสาทวัดพูที่ทุกคนตกตะลึงในความอลังการยิ่งใหญ่ สองข้างทางมีเสานางเรียงที่เรียงเป็นแนวยาว ถัดไปเป็นโถงใหญ่สองหลังซ้ายขวา เราเดินขึ้นปราสาทอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและย่อท้อ เพราะเขาบอกว่าถ้าเดินขึ้นปราสาท ห้ามพูดว่าเหนื่อย ข้างบนสุดของปราสาทมองมาข้างล่างเห็นความกว้างของปราสาทที่ไม่อาจจะประมาณได้ ซากปรังหักพังข้างบนยังคงมีหลงเหลือที่พอจะจินตนาการได้บ้างว่าในอดีตเคยเป็นอะไร มีจุดที่สำคัญๆ เช่น แท่นบูชายัน หินแกะสลักรูปช้างขนาดใหญ่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และพระพุทธรูปในโบสถ์ จากนั้นรีบเดินทางไปท่าเรือนากะสังเพื่อลงเรือไปพักที่ดอนเดด เราพักที่ “คำเพา guest house” เป็นที่พักติดริมแม่น้ำโขง ด้านหลังเป็นแปลงนา ตอนกลางคืนนั่งพูดคุยกลุ่มย่อยตามบ้านแต่ละหลัง 19 ต.ค.: กิจกรรมสุดสนุกของวันคือ การปั่นจักรยานข้ามไปดอนคอนเพื่อชมน้ำตกหลี่ผีและข้ามมาปั่นรอบดอนเดด เราออกตัวกันตอนเช้าและแจกข้าวห่อ (มีเพื่อนๆบางคนตอนกลับวันนี้ เลยไม่ได้ปั่นจักรยาน แต่นั่งรถไปยังน้ำตกหลี่ผีเพราะใช้เวลาไม่นาน) จุดเริ่มต้นคือที่ guest house คุณคำเพา ระหว่างทางหยุดถ่ายรูป ชมนกชมไม้ไป แวะซื้อของกัน ไปถึงน้ำตกก็เวลาใกล้เที่ยงจึงนั่งกินข้าว ชมน้ำตกหลี่ผี จากนั้นเดินทางต่อไปยังท้ายเกาะที่เป็นพื้นหาดทราย ทางเข้าก็ลึกลับมากิ่งไม้ระโยงรยางค์เต็มไปหมด ณ หาดทรายแห่งนี้มีความพิเศษคือ บริเวณกลางชั้นทรายมีน้ำอยู่ เวลาเหยียบจะลักษณะคล้ายเจลลี่ เราสนุกสนานกันมากมายกับการเหยียบพื้นทราย แล้วเราก็ปั่นจักรยานกลับทางเดิม กลับมายังที่พัก เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเหนื่อยมาก บางคนพักผ่อนด้วยการลงไปเล่นน้ำในแม่โขง บางคนพากันไปดูพระอาทิตย์ตกที่ท้ายดอน ตอนเย็นนั่งคุยกันเช่นเคยที่ชานชาลาหน้าบ้านแต่ละหลัง 20 ต.ค.: ลงเรือไปชุมชนเล็กๆที่สงบเงียบบนดอนเซโฮง เรานั่งคุยกับผู้ใหญ่บ้าน (พ่อบ้าน) ที่วัดประจำหมู่บ้าน แล้วผู้ใหญ่พาไปดูน้ำตกที่อยู่ท้ายดอน อาชีพหลักของคนในชุมชนคือ การจับปลา เห็นได้จากริมน้ำตกจะมีที่ดักปลาหลายอัน กลับมาทานอาหารกลางวันที่ guest house แล้วออกเดินทางลงเรือกลับไปเมืองปากเซ ไปดูความยิ่งใหญ่ของน้ำตกคอนพะเพ็งซึ่งเขาบอกว่าเป็นไนแองการ่าเอเชีย มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสเอาเฮลิคอปเตอร์มาทิ้งระเบิด (หมากแตก) แต่ระเบิดไม่ทำงานและเฮลิคอปเตอร์ตกไปในน้ำตก เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของต้นมะนีโคดที่อยู่ตรงกลางน้ำตก เป็นต้นไม้ใหญ่อยู่ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราดไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นต้นไม้ชนิดใด เชื่อกันว่า ใครที่ได้กินใบหรือผลของต้นมะนีโคดจะมีอายุยืนยาว แต่ก็ยังไม่มีใครพิสูจน์เพราะไม่มีใครสามารถไปถึงต้นนั้นได้ เราเดินทางกลับมาเมืองปากเซ ทานอาหารเย็นที่ร้านแหนมเนือง จากนั้นกลับเข้าที่พักและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันที่โรงแรมทัดดาว 21 ต.ค.: ทานข้าวเช้าในตลาดดาวเรือง (ตามอัธยาศัยเช่นเคย) จากนั้นไปโรงเรียนสายใย มีคุณโสภาวรรณและคุณแรมซีย์เป็นเจ้าของโรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนเน้นการสอนวิชาชีพเพื่อให้นักเรียนที่มาจากชุมชนใกล้ๆสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่โรงเรียนสายใยมีสอนทำขนม สอนทำการเกษตรกรมและอื่นๆอีกมาก จากนั้นเราเข้าไปที่พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า (อยู่ในบริเวณน้ำตกผาส้วม) มีการจำลองบ้านของชนเผ่าในประเทศลาวให้ดูและมีชาวเผ่าที่แต่งตัวให้เราดู มีสินค้า เช่น ผ้าทอจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ตอนบ่ายเราทานข้าวที่น้ำตกผาส้วมที่คุณวิมล กิจบำรุงเป็นเจ้าของ (เจ้าของหนังสือ “เขาว่าข้อยบ้า”) ตอนเย็นทานชิ้นดาด (หมูกระทะ) ใกล้ๆกับที่พัก ตอนกลางคืนนั่ง นอนพูดคุยตามห้องในโรงแรมทัดดาว 22 ต.ค.: อาหารเช้ามื้อสุดท้ายที่ตลาดดาวเรือง มีเวลาให้ซื้อของเล็กๆน้อยๆก่อนจะไปที่ชายแดนประเทศลาว – ไทย ระหว่างที่รอกระบวนการทำหนังสือออกนอกประเทศโดยมีปุ๋ยจัดการให้ เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะซื้อของในตลาดวังเต่า (อยู่ติดกับชายแดนฝั่งลาว) จากนั้นมุ่งตรงไปที่ จ.บุรีรัมย์ ถึงจ.บุรีรัมย์ก็ 20.00 น. ทานข้าวเย็นแล้วพูดคุยกับพ่อคำเดื่องในตอนกลางคืน พ่อคำเดื่อง ภาษีเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ทำเกษตรตามธรรมชาติตามแนวคิดของคุณฟูโกอูกะ (เกษตรกรชาวญี่ปุ่น) ที่ให้ธรรมชาติเป็นผู้ดูแลธรรมชาติด้วยกันเอง คืนนี้ไม่มีการพูดคุยกลุ่มย่อย 23 ต.ค.: พ่อคำเดื่องจะพาชมสวนในตอนเช้าเวลา 7.00 น. เลยตื่นกันแต่เช้าเลย พ่อคำเดื่องรู้จักต้นไม้ทุกต้น จึงเล่าได้อย่างต่อเนื่องว่าต้นไม้ที่ปลูกเอาไปทำอะไรได้บ้าง ดูแลยังไง และยังอธิบายของการปลูกต้นไม้ในลักษณะที่ต่างกันออกไป เช่น ปลูกต้นหนึ่งก็ปลกอีกต้นคู่กันไปเพราะถ้าตัดไปอีกต้นก็ยังมีใช้อีกต้น ตอนสายๆเดินไปบ้านพี่กอล์ฟ ลูกชายพ่อคำเดื่องที่รับวิทยายุทธ์จากพ่อคำเดื่องมา พี่กอล์ฟเล่าชีวิตของตัวเองที่ตัดสินใจมาทำสวนแบบพ่อคำเดื่อง แล้วพี่กอล์ฟก็พาดูต้นไม้รอบบ้าน และพาไปดูวิธีการทำอิฐบล็อกที่ทำได้ง่ายๆละประหยัด พี่กอล์ฟทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วก็ปล่อยพวกเราก็ช่วยกันทำ ตอนบ่ายหลังทานข้าว ปล่อยให้พักผ่อนกันอิสระ (อย่างมาก) ตอนกลางคืน ก่อนจะมีการพูดคุยกัน ลุงอ๋อยให้แต่ละคนออกมาพูดถึงนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองว่า ทำไมถึงเลือกหรือถ่ายภาพนี้ การพูดคุยต่างออกไปจากวันอื่นๆเพราะมีการแบ่งกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ลุงอ๋อยให้ประเด็นในการพูดคุยไปสามประเด็น จากนั้นมานำเสนอในกลุ่มใหญ่ 24 ต.ค.: วันสุดท้ายของทริป 10 วัน ออกจากบ้านพ่อคำเดื่องแต่เช้า เดินทางไปชมปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ วันนั้นมีกองถ่ายละครธิดาวานร ภาคสองไปถ่ายบนปราสาทด้วย มีมัคคุเทศก์เยาวชนอธิบายเรื่องราวต่างๆในปราสาทให้ฟังซึ่งใช้เวลาในการชมประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นเดินทางกลับกทม. ระหว่างทางแวะดูหินทรายที่ยังคงมีร่องรอยของการถูกตัด แล้วก็แวะเขายายเที่ยง ดูกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดและอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับ ทานอาหารเย็นที่ร้านลุงตั้ม ถึงกทม.สี่ทุ่ม
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1. น.ส.ธนันดา เทพสิงห์ (แก้ว) สาขานิเทศศาสตร์ เอกวิทยุและโทรทัศน์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปี3) มหาวิทยาลัยศิลปากร