โครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก เป็นโครงการที่เกิดจากความคิดของสมาคมท่องเที่ยวสระบุรี ที่มองเห็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของลำน้ำมวกเหล็ก ซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดหลักของคนในอำเภอมวกเหล็ก ทั้งจากการใช้ประโยชน์โดยตรง โดยใช้ในการอุปโภคและบริโภค และประโยชน์โดยอ้อม คือ ประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยว ด้วยเพราะลำน้ำมวกเหล็กมีทัศนียภาพที่สวยงามและร่มรื่น ต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เขียวครึ้ม และสงบ ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากลำน้ำมวกเหล็ก แต่ปัจจุบันลำน้ำมวกเหล็กได้ถูกใช้ประโยชน์ไปมาก แต่ขาดการรักษาและดูแลอย่างเหมาะสม ทำให้ลำน้ำมวกเหล็กหลายๆ ช่วง กลายเป็นน้ำเน่าเสีย เพราะปัญหาขยะ และ ปัญหาการขาดการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงลำน้ำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง อีกทั้งยังมีน้ำป่าไหลหลากรุนแรงในฤดูฝน ชะหน้าดินที่สมบูรณ์ลงไปส่งผลให้น้ำตื้นเขินในหลายจุด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป นั่นหมายถึง ความเป็นอยู่ของคนอำเภอมวกเหล็กที่จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน สมาคมท่องเที่ยวสระบุรี จึงจัดโครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก มุ่งหวังที่จะปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็กให้กับเด็กและเยาวชนในอำเภอมวกเหล็กเป็นเบื้องต้น ด้วยการเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนสามารถลงมือดูแลลำน้ำมวกเหล็กจากความคิดริเริ่มของพวกเขาเอง โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้พักอาศัย รวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นผู้ร่วมสนับสนุนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงมือดูแลลำน้ำมวกเหล็ก ได้จริง โดยโครงการดังกล่าว ร่วมกับมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จัดเป็นกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนต่อเนื่อง 3 ครั้ง และครั้งที่ 4 จะเป็นวันที่เด็กๆ สรุปผล บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดของพวกเขา โดยจัดให้มีขึ้นปี 2551 นี้ เป็นรุ่นที่ 1 รวมจำนวนเด็กกว่า 20 ชีวิต ระดับประถมศึกษาตอนปลาย จาก 3 โรงเรียน ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอำเภอมวกเหล็ก คือ โรงเรียนวัดมวกเหล็กใน โรงเรียนอนุบาลมวกเหล็ก และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 68 (วัดเหวลาด) และรุ่นที่ 2 ในปี 2552 จาก 8 โรงเรียนๆ ละ 10 คน รวมจำนวนเด็ก 80 คน ที่เข้าร่วมอบรมต่อเนื่อง และในปี 2553 ที่ผ่านมา ด้วยเผชิญกับภาวะวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจ โครงการดังกล่าวจึงขอ ระงับเป็นการชั่วคราว และจัดเป็นกิจกรรมเสวนา ในวันอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก คือ วันที่ 14 มิถุนายน 2553 ณ วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกมวกเหล็ก รูปแบบกิจกรรมค่ายอบรมต่อเนื่อง 3 ครั้ง มีรายละเอียดในรุ่นที่ 1 ดังนี้ ค่ายครั้งที่ 1 วันที่ 24-27 มีนาคม 2551 เป็นค่ายแรกที่เปิดมุมมองใหม่ในมิติสิ่งแวดล้อม และพาให้เด็กๆ ได้รู้จักธรรมชาติ โดยเฉพาะลำน้ำมวกเหล็ก ว่าปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไร จากการล่องเรือคายัค และเด็กๆ ได้ลงมือเก็บขยะตลอดลำน้ำฯ วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร รวมถึงการลงสัมภาษณ์ชุมชน ถึงลำน้ำมวกเหล็กของพวกเขาว่า พวกเขาอยากเห็นลำน้ำมวกเหล็กเป็นอย่างไร หลังจากที่เด็กได้รับรู้ถึงปัญหา สาเหตุ และแนวทางการแก้ไข ผนวกกับกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาได้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ในตัว ที่หลายครั้งผู้ใหญ่มักจะมองเห็นว่า เป็นความซุกซน หรือ ไม่สำคัญเมื่อเทียบกับผลการเรียนในโรงเรียน ค่ายครั้งที่ 2 วันที่ 9-11 เมษายน 2551 ค่ายครั้งที่สองของเด็กๆ เป็นการระดมความคิดของเด็ก ถึงสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำในการดูแลลำน้ำมวกเหล็ก รวมถึงการพาพวกเขาไปดูงานการบำบัดน้ำเสีย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ เพื่อรู้จักการบำบัดน้ำเสียและวิธีการกำจัดขยะ ซึ่งส่งผลให้ป่าชายเลนของจังหวัดกลับคืนมาจำนวนมาก และเมื่อพวกเขาเห็นถึงแนวทางในการดูแลลำน้ำฯ แนวทางหนึ่งแล้ว เขาจึงระดมความคิดวิธีการที่พวกเขาจะลงมือดูแลลำน้ำมวกเหล็กของพวกเขาออกมาได้ 3 โครงการ คือ โครงการเสียงสวรรค์กำจัดขยะ โดยเด็กๆ แกนนำ โรงเรียนอนุบาลมวกเหล็ก โครงการเฮฮาหรรษาพิชิตขยะ โดยเด็กๆ แกนนำ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 68 (วัดเหวลาด) และโครงการคนฮักลำน้ำมวกเหล็ก โดยเด็กๆ แกนนำ โรงเรียนวัดมวกเหล็กใน ระหว่างนี้ เด็กๆ ได้ไปดำเนินโครงการของพวกเขา ค่ายครั้งที่ 3 วันที่ 12-14 พฤษภาคม 2551 มาครั้งนี้ เด็กๆ นำสิ่งที่พวกเขาได้ไปทำมา มาบอกเล่าแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มพวกเขา ว่าแต่ละโครงการได้ไปดำเนินกิจกรรมอะไรมาบ้าง และมีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง รวมถึงวิธีการแก้ไขด้วยตัวพวกเขาเอง การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานจริง (นอกห้องเรียน) ของพวกเขาครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกนับแต่พวกเขาเติบโตมา แต่เป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญ เพราะแต่ละคนได้รับรู้แล้วว่า หากพวกเขาตั้งใจจริงที่จะทำประโยชน์แล้ว แม้ว่าจะเป็นเด็ก พวกเขาก็สามารถทำได้ และอีกครั้งที่พวกเขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่าน สื่อหนังสือพิมพ์ “เด็กเราเล่าลำน้ำ” ซึ่งเป็นการเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำมวกเหล็ก การชักชวน เป็นเวทีที่จะสื่อสารความคิดของพวกเขาต่อธรรมชาติรอบๆ ตัวเขา **ดาวน์โหลด PDF ไฟล์หนังสือพิมพ์เด็กเราเล่าลำน้ำ ** ค่ายครั้งที่ 4 วันที่ 11-13 มิถุนายน 2551 เป็นค่ายเพื่อสรุปการเรียนรู้ตลอดโครงการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เด็กๆ ช่วยกันจัดเตรียมนิทรรศการและสื่อต่างๆ ที่จะบอกเล่าเรื่องของพวกเขาในวันที่ 14 มิถุนายน 2551 ที่ผู้ใหญ่ได้ร่วมกันจัดให้เป็น “วันรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นผู้มาเปิดงานให้ และร่วมลงนามในสัตยาบรรณ ที่จะรักษาและดำเนินการดูแลลำน้ำมวกเหล็กอย่างจริงจังต่อไป เด็กๆ ตื่นเต้น ที่ได้เห็นวันสำคัญของพวกเขาในวันนี้และคาดหวังในปีต่อๆ ไปที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อลำน้ำมวกเหล็ก ที่มาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวมวกเหล็กอย่างแท้จริง เดือนกรกฎาคม 2551 เด็กๆ ในโครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก รุ่นที่ 1 ได้ขยายผล โดยชักชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนของตนเอง ร่วมผลิตสื่อเพื่อบอกให้ชุมชนหันมาให้ความสำคัญและร่วมดูแลลำน้ำมวกเหล็ก ผ่านการให้ความรู้ทั้งทางหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนที่จัดทำขึ้นใหม่ และทางวิทยุชุมชน บอกเล่าสาเหตุ ปัญหาเป็นอยู่ และแนวทางการแก้ไขและดูแล เพื่อให้ชุมชนของตนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลำน้ำมวกเหล็กมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทางผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สนับสนุนก็เริ่มเคลื่อนไหวในระดับนโยบายที่จะดูแลลำน้ำมวกเหล็กต่อไป เช่น การบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงลำน้ำมวกเหล็ก และปัญหาขยะ เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ร่วมมือกับโครงการและทำความรู้จักกับสมาคมท่องเที่ยวสระบุรีได้ที่ www.saraburitourism.com หรือ แจ้งความประสงค์ที่จะร่วมสนับสนุนโครงการได้ที่ คุณตั้ม 081-8767234